เมื่อวันที่ 30 มี.ค. เป็นวันแรกที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการตรวจหา เชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยชุดตรวจ Chula COVID-19 Strip Test หรือชุดตรวจผลเลือดเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่
โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้จัดเตรียมลานจอดรถชั้น 2 ของอาคารจามจุรี 9 ไว้สำหรับเป็นสถานที่ตรวจเชื้อ พร้อมเก้าอี้ 50 ตัว สำหรับผู้มาตรวจหาเชื้อ 50 คน ซึ่งได้ตั้งห่างกันตามหลัก Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและอนุญาตไม่ให้ผู้ที่เข้ามารับการตรวจ ซึ่งผ่านกระประเมินแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเข้าไปภายในอาคารโดยเด็ดขาด แต่บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา
เนื่องจากผู้ที่จะเดินทางเข้ามารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จะต้องเป็นนิสิตหรือบุคคลากรของจุฬา รวมถึงประชาชนที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ซึ่งจะได้รับการนัดหมายวัน-เวลา-สถานที่อย่างชัดเจนจากเจ้าหน้าที่
นพ.สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการแห่งสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ชุดตรวจ Chula COVID-19 Strip Test เป็นชุดทดสอบที่คิดค้นโดยอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ การทดสอบอาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology Test) ซึ่งเป็นการตรวจหาแอนติบอดี (IgG & IgM) ในเลือด ซีรัม หรือพลาสมา โดยใช้วิธีทดสอบด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ทำให้การตรวจวินิจฉัยมีความปลอดภัย ไม่ต้องใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้นก็จะรู้ผลตรวจทันที
อย่างไรก็ตาม Chula COVID-19 Strip Test ไม่ได้นำมาทดแทนการตรวจเชื้อ covid-19 ด้วยวิธีมาตรฐาน แต่หวังว่าชุดทดสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาจำนวนคนไข้ที่ต้องมารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งหากผลตรวจออกมาเป็นลบ ผู้เข้ารับการตรวจจะยังคงต้องกลับบ้านไปกักตัวดูอการต่อจนกว่าจะครบ 14 วัน แต่หากผลตรวจเป็นบวก ก็จะมีการส่งตัวไปตรวจหาเชื้อจากโพรงจมูกและคอต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้ามารับการตรวจมีเชื้อไวรัสโควิด-19 จริง
สำหรับผู้สนใจรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Chula COVID-19 Strip Test สามารถลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าได้ โดยหากเป็นนิสิตหรือบุคลากรของจุฬาฯ จะต้องลงทะเบียนผ่านเว็ปไซต์ภายในของจุฬาฯ ส่วนประชาชนทั่วไปให้ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ http://covid19.thaitechstartup.org หรือแอพพลิเคชั่น “เป็ดไทยสู้ภัย” โดยต้องกรอกประวัติส่วนตัว เพื่อประเมินความเสี่ยง เช่น ประวัติการเดินทางกลับจากต่างประเทศ และประวัติสุขภาพ จากนั้น 2-3 วัน จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาซักประวัติเพิ่มเติม หากเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะได้รับการนัดหมายวันและเวลาให้เข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่อาคารศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลี่ยวันละ 100 คน แบ่งเป็นนิสิต บุคลากรของจุฬาฯ 50 คน และประชาชนทั่วไป 50 คน.
แหล่งข่าว >> https://bit.ly/2Uy53vf