อยู่กับน้องวายวาย “เรื่องเที่ยวเรื่องใหญ่” แล้วถ้าไม่มีปลั๊กไฟเรื่องใหญ่กว่า ไหนจะโทรศัพท์มือถือเอย กล้องถ่ายรูปเอย ไหนจะอุปกรณ์อะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะที่ต้องใช้ปลั๊กไฟ ถ้าไม่มีเสียบชาร์จแบตไว้นี่จบข่าวเลยนะ จะพาลให้ทริปนั้นไม่สนุกเอาง่ายๆ ซึ่งบอกไว้ก่อนเลยว่าเค้าแยกประเภทตามมาตรฐานสากลไว้มากถึง 14 แบบด้วยกัน เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับปลั๊กไฟแบบต่างๆ กันก่อนเดินทาง ว่าปลั๊กไฟมีแบบไหนบ้าง
Type A ปลั๊กหัวแบน สองขา (ไม่มีกราวด์)
เรียกได้ว่าเป็นปลั๊กมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็ถูกใช้ในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น ซึ่งที่แตกต่างกันอยู่เล็กน้อยก็คือจองทางอเมริกาขาปลั๊กสองข้างจะไม่เท่ากัน คือมีข้างนึงใหญ่กว่า ส่วนของทางญี่ปุ่นจะเท่ากันทั้งสองข้าง ของไทยเราก็ใช้ได้
Type B ปลั๊กหัวแบนสองขา บวกขากราวด์
เอาเข้าใจง่ายๆ มันก็คือปลั๊กแบบ Type A ที่มีขากราวด์กลมๆ เพิ่มขึ้นมานั่นเอง โดยขากราวด์จายื่นยาวกว่าขาปลั๊กคู่เล็กน้อย เพื่อให้มีการต่อสายดินก่อนจะเสียบปลั๊กจริงมาจ่ายไฟให้เรานั่นเอง ซึ่งก็เหมือนกันตรงที่ใช้ในแถบอเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และบ้านเราก็ใช้ได้
Type C ปลั๊กหัวกลม 2 ขา (ไม่มีกราวด์)
ปลั๊กนี้มักเรียกว่า Europlug เพราะเป็นปลั๊กที่ถูกใช้ในประเทศแถบยุโรป ซึ่งถือเป็นปลั๊กที่ถูกใช้แพร่หลายแทบจะทั่วโลก รวมถึงบ้านเราก็ใช้ได้ด้วย
Type D ปลั๊กหัวกลมคู่ พร้อมขากราวด์
ปลั๊กแบบหัวกลมพร้อมขากราวด์ขนาดใหญ่ เรียงเป็นมุมสามเหลี่ยมด้านเท่า มักจะใช้ในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ซึ่งปลั๊กแบบนี้บ้านเราไม่ได้ใช้กัน ถ้าใครไปเที่ยวประเทศในแถบนี้ก็ต้องเตรียมหัวปลั๊กที่เข้ากันได้ด้วยนะ
Type E ปลั๊กหัวกลมคู่ กับคลิปสำหรับกราวด์
คล้ายๆ กับ Type C ของยุโรป แต่มีเพิ่มคลิกสำหรับกราวน์มาด้วย 1 ด้าน ซึ่งก็จะถูกใช้กับประเทศบางประเทศของยโรป เช่น ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, สโลวาเกีย ฯลฯ
Type F ปลั๊กหัวกลมคู่ กับคลิปสำหรับกราวด์ 2 ด้าน
แตกต่างจาก Type E เล็กน้อย ซึ่ง E สามารถใช่ร่วมกับ F ได้ โดยจะมีคลิปกราวด์ 2 ด้าน บน-ล่าง ดูแล้วออกจะหัวโตสักหน่อย ซึ่งก็ใช้ในประเทศส่วนใหญ่ของยุโรป เช่น เยอรมนี ออสเตรีย สเปน ของไทยก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
Type G ปลั๊กหัวสี่เหลี่ยม 3 หัว
เป็นปลั๊กมาตรฐานของอังกฤษ ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นแถมมาบ้างกับเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างที่เราซื้อมา นอกจากนี้ก็มักจะใช้ได้ในประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน ข้อดีคือถ้าเป็นแบบมาตรฐานจริงๆ จะมีฟิวส์ฝังอยู่ภายในด้วย ค่อนข้างปลอดภัยเลยล่ะ ข้อเสียคือด้วยความที่เป็นเหลี่ยมๆ จึงใช้ร่วมกับปลั๊กชนิดอื่นไม่ได้
Type H สามขาแบน เรียงกันเป็นสามเหลี่ยม เอียงเข้าหากัน
ออกจะเป็นปลั๊กที่รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดกว่าชาวบ้านเค้าสักหน่อย เพราะว่าถูกใช้ในประเทศเดียวก็คือ อิสราเอล แต่เดี๋ยวนี้ทางอิสราเอลเองเค้าก็พยายามปรับตัวให้เป็นหัวกลม เพราะฉะนั้นปลั๊กแบบนี้ค่อนข้างเหลือน้อยแล้วล่ะ
Type I ปลั๊กหัวแบน 3 ขา เอียงเป็นตัว V พร้อมขากราวด์
ปลั๊กนี้ถูกใช้ในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมไปถึงจีนก็ใช้ได้ด้วย อันนี้ไทยเราไม่มี ก็ต้องมีอแดปเตอร์เป็นตัวแปลง
Type J หัวกลมสามขาเรียงใกล้กัน
ซึ่งก็คือหัวกราวน์อยู่ชิดกับหัวปลั๊กมากๆ ปลั๊กนี้ถูกใช้ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และ ลิกเตนสไตน์ แต่ไม่ต้องกังวล ปลั๊กเราสาองขาสามารถเสียบใช้ได้จ้า
Type K ปลั๊กหน้ายิ้ม สองขากลม พร้อมขากราวด์
ปลั๊กนี้ถูกใช้ในเดนมาร์ก และ กรีนแลนด์ เป็นหลัก ดูสิ ตรงรูเสียบปลั๊กมันเหมือนหน้ายิ้มจริงๆ นะ ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ กับแบบ F ที่เป็นคลิปกราวน์ แต่เปลี่ยนเป็นขากราวด์แทน และถ้าเรามีแบบหัวกลมคู่ ก็สามารถเสียบได้เหมือนกัน
Type L ปลั๊กขากลม 3 ขาเรียงกันเป็นเส้นตรง
อันนี้หน้าตาดูแปลกกว่าใครเค้า เพราะว่ามีขากลมๆ สามขาเรียงกันเป็นแถวเดียวกันเลยน่ะสิ โดยขากราวด์จะอยู่ตรงกลาง ซึ่งถูกใช้ในประเทศอิตาลี และเหมือนเดิมคือ ถ้าเรามีหัวกลมคู่ ก็สามารถเสียบได้เหมือนกัน
Type M ปลั๊กหัวกลมสามขา กราวด์ใหญ่พิเศษ
ซึ่งปลั๊กนี้ตรงขากราวน์จะมีขนาดใหญ่กว่าอีกสองขา และจะใหญ่กว่า Type D นะ แต่ว่าเอาหัวของ Type D มาเสียบได้ ถูกใช้ในประเทศแถบแอฟริกาใต้
Type N หัวกลมสามขาเรียงชิดกัน
ดูๆ แล้วหน้าตามันก็ไปละม้ายคล้ายกับ Type J แต่ว่าต่างกันตรงที่ขากราวด์จะชิดกันมากกว่า ซึ่งถูกใช้ในประเทศบราซิล และถ้าเรามี Type C ก็สามารถเสียบได้เลย
ดูไปดูมา เหมือนว่าถ้าใครมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นปลั๊ก Type C สามารถใช้ได้กับเกือบทั่วโลกเลย ต่างกันแค่เพียงขากราวด์เท่านั้น และก็มีอยู่ไม่กี่ประเทศที่ใช้ปลั๊กต่างออกไป ซึ่งเราก็ต้องมี Adapter สำหรับแปลงหัวปลั๊กติดตัวไว้ เดี๋ยวนี้หาซื้อได้ไม่ยากเลย มีติดเอาไว้สักอัน ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนในโลกก็ไปต้องปวดหัวเรื่องปลั๊กแล้ว
Tips: อย่าลืมพกปลั๊กรางไปด้วย เอาปลั๊กแปลง เสียบกับปลั๊กราง แค่นี้เราก็ใช้เสียบได้หลายอย่างแบบสบายๆ
ดูข้อมูลปลั๊กของแต่ละประเทศได้ที่นี่ : International Electrotechnical Commission