Tea Ceremony กรุ่น กลิ่น ชาญี่ปุ่น
โอฮาโยะ โกไซมัซซซ ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องดื่มของคนญี่ปุ่นเราจะนึกถึงอะไร แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นชาเขียว ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็หาดื่มกันได้ไม่ยากเลย สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและตามตู้น้ำอัตโนมัติทั่วไป ซึ่งแน่นอนค่ะ วายวายก็เป็น 1 สาวกน้องชาเหมือนกัน แต่จะดีแค่ไหนกันถ้าเราได้ดื่มชาจากการชงชาต้นตำรับของชาญี่ปุ่นแท้ๆ พร้อมรู้จักวิธีการชงชาอย่างถูกต้อง มาค่ะ วันนี้ วายวายจะพาทุกคนมารู้จักการชงชาแบบต้นตำรับกัน
รู้จักพิธีชงชาญี่ปุ่นกันสักนิด
ถ้าพูดถึงญี่ปุ่น อีกสิ่งหนึ่งที่นึกถึงก็คงหนีไม่พ้นการชงชา มาเริ่มต้นรู้จักพิธีชงชาญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กันเลย โดยต้นกำเนิดของพิธีนี้เริ่มต้นเมื่อศตวรรษที่ 9 ตั้งแต่ประมาณ 700 ปีก่อน ได้มีพระสงฆ์นามว่า เอชู ซึ่งเป็นผู้ที่นำชาเข้ามาจากประเทศจีน โดยในสมัยนั้นจะมีแต่พระเท่านั้นที่นิยมดื่มชากัน แต่ต่อมาก็ได้นำชามอบให้โชกุนได้ลองชิม จึงทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่นิยมแพร่หลายมากในวัง ต่อมาก็มีการนำชาไปปลูกนอกเมืองเกียวโต ทำให้ผู้คนนิยมดื่มชากันมาก
การดื่มชา
สำหรับชนชั้นสูงสมัยนั้นจะมีการดื่มในงานเลี้ยงสังสรรค์ก่อนมื้ออาหารหลัก เมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยจะมีการเล่นเกมทายชา สำหรับพิธีการชงชาที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากที่สุด คือ วาบิชะ ซึ่งเป็นการชงชาแบบง่ายๆ ต่อมาพระเซนโนะริคิว ได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นพิธีแบบในปัจจุบัน ซึ่งก็จะมีการวางรูปแบบและกำหนดวิธีการชงชาต่างๆ แต่ก็ยังคงความเรียบง่ายเอาไว้
ปรัชญาของการชงชาและความหมายที่ซ่อนอยู่
ในการชงชามีความหมายซ่อนอยู่ นั่นก็คือปรัชญา ซะโด คือการที่ทำจิตใจให้สงบ สันติ ตามแนวคิดที่ว่า ความงามในความเรียบง่ายและความสงบ รวมไปถึงอุปกรณ์ชงชาต่างๆ อย่าง กาต้มน้ำ ถ้วยชาเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเรียบง่ายเช่นกัน หรือแม้แต่การใช้อุปกรณ์ที่มีความขรุขระ ยังรวมไปถึงความงามในความไม่สมบูรณ์อีกด้วย สรุปง่ายๆ เลย หัวใจของพิธีการชงชา คือ เรียบง่าย การรวมเป็นอันหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ลึกซึ้งมากจริงๆ
ชาที่ใช้ชง มี 2 แบบ
- Koicha สำหรับชงในภาชนะใหญ่ ดื่มกันได้หลายคน จึงต้องชงให้มีรสชาติเข้มข้น
- Usucha สำหรับการชงในถ้วยเล็กๆ เพื่อดื่มคนเดียว ใช้ทั่วๆไป ที่เรามักเห็นกันในปัจจุบัน
อุปกรณ์ในพิธีชงชา
- ผ้า 2 ชั้น ไว้คลุม และทำความสะอาดอุปกรณ์
- กระดาษไคชิ กระดาษญี่ปุ่นไว้รองขนมหวาน
- นัทสึเมะ โถใส่ผงชามัตฉะ
- ชะอิเระ โถใส่ชา ทำมาจากเซรามิก
- ชะฉะคุ ช้อนตักชา โดยทั่วไปทำจากไม้ไผ่ มีลักษณะยาว ปลายแหลมเล็ก
- ชะเซน อุปกรณ์ที่คนชาให้เข้ากัน โดยการเติมน้ำร้อนลงในถ้วยชา แล้วใช้ชะเซนคนลงตรงกลางถ้วยให้ผงชาละลายจนทั่ว
- ชะคิง ผ้าที่ทำจากป่าน สำหรับเช็ดทำความสะอาดถ้วยชา
- ชะวัง ถ้วยชาที่มีรูปร่างขนาดใหญ่ แตกต่างขึ้นอยู่กับฤดูและพิธี
- ฮิชะคุ อุปกรณ์ไว้ตักน้ำชงชา ในฤดูร้อนจะมีขนาดเล็ก ในฤดูหนาวจะมีขนาดใหญ่
- ชะคะมะ กาน้ำสำหรับต้มน้ำใส่ชา
- ภาพแขวนผนัง จะเป็นภาพวาดหรือตัวอักษรก็ได้ จะแขวนไว้ที่ “โทโคโนมะ” (เป็นส่วนที่ยกขึ้นสูงเล็กน้อย ไว้ประดับภาพแขวน หรือ วางแจกันดอกไม้ ) ในห้องชงชา
- แจกันดอกไม้ ไว้สำหรับตกแต่งดอกไม้ จะวางประดับไว้ที่ “โทโคโนมะ” เช่นกัน
ขั้นตอนการชงชา
- ใช้ชะฉะคุ ตักผงชาจากโถใส่ชาลงในถ้วยชา
- ใช้กระบวยตักน้ำ ตักน้ำร้อนใส่ถ้วยชา
- ใช้ชะเซนคนชาให้เข้ากัน
- สำหรับแขกผู้ดื่มชา จะจับถ้วยชาด้วยมือขวา โดยแบมือซ้ายเพื่อวางถ้วยชา
- หมุนถ้วยชาไปตามเข็มนาฬิกา แล้วค่อยดื่ม
- หลังจากดื่มชาแล้ว เช็ดขอบถ้วยตรงบริเวณที่ดื่ม
- แล้วหมุนถ้วยขาทวนเข็มนาฬิกา 3 ครั้ง
- วางถ้วยชาเพื่อส่งคืน
เลือกใช้ชาชนิดไหนดี
- ใบชาเกียวคุโระ ราชินีแห่งชาเขียวเลยก็ว่าได้ เพราะมีคุณภาพสูง ได้ผ่านการดูแลอย่างดีจากสวนชาที่มีความร่มรื่น หรือมีฉากปกคลุม จะไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง ทำให้รสชาติของของชานั้นกลมกล่อมอย่างมาก
- ชาญี่ปุ่นคั่ว (เซนฉะ) ใช้ชาเขียวญี่ปุ่นได้เกือบทั้งหมด ใบอ่อนจะมีการนำไปนึ่งนวด ชาเขียวเซนฉะมีความสมดุล ให้รสชาติที่กลมกล่อม หอมกรุ่น
- ชาเขียวฟุคามุ ชิฉะ เป็นชาเขียวเข้มข้น ใช้เพียง 2-3 เท่า ชงได้ง่ายกว่าเซนฉะ ให้รสชาติที่มากกว่า มีความขมและฝาดกลางๆ
- ชาเขียวเกรไมฉะ เป็นชาเขียวที่มีกลิ่นหอมของข้าวคั่ว โดยใช้ข้าวที่คั่วในอุณภูมิที่สูงผสมในใบชา นิยมมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- ชาเขียวโฮจิฉะ ชาเขียวมัทฉะ ใช้สำหรับช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย ให้กลิ่นหอม รสชาติบางเบา มีคาเฟอีนต่ำ เด็กสามารถดื่มได้ เหมาะแก่การดื่มก่อนนอน
ฟังดูละเอียด แต่ถ้าลองไปละเลียดจิบชาดูสักครั้งก็ดีเหมือนกันนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: livejapan, promotions.co.th